Vichy France ; Vichy Government; Vichy Regime (1940–1944)

ฝรั่งเศสสมัยรัฐบาลวิชี (พ.ศ. ๒๔๘๓–๒๔๘๗)

ฝรั่งเศสสมัยรัฐบาลวิชี เป็นชื่อเรียกรัฐฝรั่งเศส (French State) อย่างไม่เป็นทางการในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ ถึงเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๔ เนื่องจากฝรั่งเศสมีรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นที่เมืองวิชี (Vichy) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส รับผิดชอบบริหารดินแดนที่ครอบคลุมพื้นที่ ๒ ใน ๕ ของประเทศ ส่วนที่เหลืออยู่ในความครอบครองของรัฐบาลนาซี (Nazi)* ฝรั่งเศสสมัยรัฐบาลวิชีสิ้นสุดลงเมื่อกองกำลังพันธมิตรปลดปล่อยฝรั่งเศสจากการถูกกองทัพนาซียึดครองได้สำเร็จ

 ฝรั่งเศสซึ่งขณะนั้นอยู่ในสมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ (Third French Republic)* ประกาศสงครามต่อเยอรมนีเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ หลังจากกองทัพเยอรมันบุกโปแลนด์ได้ ๒ วัน และเมื่อเยอรมนีเปิดการรุกอย่างจริงจังด้วยสงครามสายฟ้าแลบ (Lightning War)* ในดินแดนยุโรปตะวันตกอันได้แก่เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ เพียงไม่กี่สัปดาห์ต่อมา กองทัพฝรั่งเศสก็ตระหนักในสัญญาณแห่งความพ่ายแพ้ กองทัพเยอรมันยึดกรุงปารีสได้ในวันที่๑๔มิถุนายนค.ศ. ๑๙๔๐ ซึ่งนำไปสู่การสิ้นสุดของยุทธการที่ฝรั่งเศส (Battle of France)* ท่ามกลางความตระหนกตกใจของชาวฝรั่งเศสที่เคยเชื่อมั่นในศักยภาพกองทัพของประเทศและประสิทธิภาพของแนวพรมแดนมาจิโน (MaginotLine)* แม้ปอล เรโน (Paul Reynaud)* นายกรัฐมนตรีจะยอมรับว่าการหยุดยั้งการรุกของเยอรมนีให้สำเร็จเป็นไปได้ยากมาก แต่เขาก็เห็นว่าฝรั่งเศสไม่ควรเจรจาขอสงบศึกเพราะอังกฤษได้ให้ความมั่นใจแล้วว่าอังกฤษจะร่วมกับฝรั่งเศสต่อสู้อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเยอรมนีจนถึงที่สุดเขาเสนอว่ารัฐบาลควรถอยไปตั้งกองบัญชาการในอาณานิคมบริเวณตอนเหนือของทวีปแอฟริกา แต่จอมพล อองรี-ฟิลิป เปแตง (Henri-Philippe Pétain)* รองนายกรัฐมนตรี และนายพลมักซิม เวกอง (Maxime Weygand) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่ารัฐบาลควรอยู่ในฝรั่งเศสต่อไปเพื่อดำเนินการเจรจาสงบศึกจะเป็นการดีกว่า ข้อเสนอของเรโนจึงตกไป เขาลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ประธานาธิบดีอัลแบร์ เลอเบริง (Albert Lebrun) จึงแต่งตั้งเปแตง วีรบุรุษแห่งยุทธการที่แวร์เดิง (Battle of Verdun)* ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* วัย ๘๔ ปี เข้าดำรงตำแหน่งในวันเดียวกัน

 เปแตงดำเนินการเจรจากับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* ทันทีโดยให้สัญญากับชาวฝรั่งเศสว่าจะนำสันติภาพกลับคืนอย่างมีเกียรติ ผลของการเจรจานำไปสู่สัญญาสงบศึก (Armistice)* เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ โดยมีการลงนามบนตู้รถไฟที่


เมืองกงเปียญ (Compiègne) ทางเหนือของฝรั่งเศสฮิตเลอร์ยืนกรานว่าต้องเป็นตู้รถไฟเดียวกับที่เยอรมนีเคยลงนามยอมรับความพ่ายแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ และ ณ บริเวณที่เดิมเท่านั้น การสงบศึกดังกล่าวนำไปสู่การแบ่งดินแดนฝรั่งเศสออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกซึ่งครอบคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันตกและชายฝั่งแอตแลนติกของฝรั่งเศสทั้งหมดให้อยู่ในความครอบครองของเยอรมนี ส่วนทางตะวันออกเฉียงใต้และอาณานิคมต่าง ๆ ยังคงอยู่ใต้อธิปไตยของฝรั่งเศส หรืออย่างน้อยฝรั่งเศสก็ยังมีอำนาจโดยนิตินัยและให้รัฐบาลเปแตงที่เมืองวิชีบริหารต่อไป เมืองวิชีเป็นเมืองตากอากาศเพื่อสุขภาพห่างจากกรุงปารีสไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๓๐๐ กิโลเมตร และโด่งดังจากการมีบ่อน้ำพุร้อนจนน้ำแห่งเมืองวิชี (Vichy water) เป็นที่เลื่องลือ มีโรงแรมที่พักจำนวนมากที่จะรับรองเจ้าหน้าที่รัฐ เขตปกครองของรัฐบาลวิชีคือจากเส้นพรมแดนระหว่างสวิตเซอร์แลนด์กับฝรั่งเศสใกล้เมืองเจนีวา (Geneva) ไปประมาณ ๑๒ กิโลเมตรจนถึงตะวันออกของเมืองตูร์ (Tours) และลากลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้จนจดพรมแดนระหว่างฝรั่งเศสกับสเปน ห่างจากอ่าวบิสเคย์ (Bay of Biscay) ๔๘ กิโลเมตร อย่างไรก็ดี มีการยกบริเวณแคบ ๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้รอบ ๆ เมืองนีซ (Nice) ให้อิตาลีซึ่งเพิ่งเข้าสู่สงครามกับฝ่ายอักษะเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายนครอบครองด้วย การสงบศึกดังกล่าวทำให้อังกฤษกับรัฐบาลวิชีตัดสัมพันธ์ทางการทูตกันในวันที่ ๕ กรกฎาคม

 ในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ประชุมที่เมืองวิชีก็ลงมติยุบสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ และสถาปนาสมัยรัฐบาลวิชีในวันรุ่งขึ้น นอกจากนี้วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรก็ลงมติเห็นชอบให้ตำแหน่ง “ประมุขของรัฐ (Chief of State)” แก่เปแตงซึ่งได้ดำรงตำแหน่งนี้จนถึงวันที่ ๒๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ เปแตงซึ่งชื่นชอบระบอบอำนาจนิยมมีทัศนะกล่าวโทษระบอบเสรีประชาธิปไตยของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ ว่าไม่มีประสิทธิภาพ เขาเริ่มสมัยการปกครองแบบเอกาธิปไตยโดยมี ปีแยร์ ลาวาล (Pierre Laval)* และชอง-ฟรองซัว ดาร์ลอง (Jean-François Darlan)* เป็นรองประธานาธิบดี ลาวาลซึ่งเข้าร่วมในรัฐบาลวิชีเพียง ๑ วัน หลังการสงบศึกก็โน้มน้าวให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติประชุมให้สัตยาบันข้อตกลงสงบศึกเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ และลงมติด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน ๕๖๙ เสียงคัดค้าน ๘๐ เสียงและงดออกเสียง ๑๘ เสียง ให้อำนาจจอมพล เปแตงประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันถัดมา ตามรัฐธรรมนูญนี้ ระบอบรัฐฝรั่งเศสที่สถาปนาขึ้นนั้นรัฐสภาถูกยุบไป เปแตงมีอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติอย่างสมบูรณ์ คำขวัญเดิมของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ว่า “เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ” (Liberty, Equality, Fraternity) ก็เปลี่ยนเป็น “งานครอบครัว และปิตุภูมิ” (Work, Family, Fatherland) อย่างไรก็ตาม ในทางทฤษฎี แม้รัฐบาลวิชีมีอำนาจอธิปไตยในเขตที่เยอรมนีไม่ได้ยึดครอง แต่ในทางปฏิบัติ คำสั่งต่าง ๆ ก็ยังคงมาจากกรุงเบอร์ลินอยู่

 ก่อนการลงนามสงบศึกของฝรั่งเศสนั้น นายพลชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle)* ซึ่งเคยเป็น

ปลัดกระทรวงกลาโหมและสงครามในรัฐบาลเรโนหนีออกไปยังประเทศอังกฤษเพื่อเตรียมจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นแทนที่จะยอมจำนนต่อเยอรมนี รัฐบาลวิชีจึงถือว่าเขาเป็นผู้ทรยศต่อชาติและพิจารณาคดีลับหลังจำเลยตัดสินลงโทษประหารชีวิตเดอ โกล เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* แห่งอังกฤษอนุญาตให้เดอ โกลกล่าวปราศรัยทางสถานีวิทยุแห่งบรรษัทกระจายเสียงแห่งอังกฤษหรือบีบีซี (British Broadcasting Corporation–BBC)* ในวันที่ ๑๘ มิถุนายน จากกรุงลอนดอนไปยังชาวฝรั่งเศสเพื่อปลุกใจให้สู้กับเยอรมนีต่อไป สุนทรพจน์ซึ่งเรียกร้องให้คงความเป็นชาติ (Declaration of Union) นี้นับเป็นสุนทรพจน์ที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ ทั้งได้รับการตอบรับจากประชาชนในเขตที่เยอรมนียึดครองมากกว่าในเขตที่รัฐบาลวิชีบริหารอยู่ เพราะในเขตนั้นคนทั่วไปยังเชื่อมั่นในจอมพล เปแตง วีรบุรุษเก่าของพวกเขาในช่วงแรก ๆ จนกระทั่งวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๒ ที่กองกำลังเยอรมันยึดครองดินแดนฝรั่งเศสทั้งหมด นับจากนั้นมารัฐบาลวิชีจึงมีลักษณะเป็นเพียงรัฐบาลหุ่น ชาวฝรั่งเศสจำนวนมากก็เปลี่ยนไปเข้าร่วมกับขบวนการต่อต้านเยอรมนีซึ่งมีอยู่หลายกลุ่มที่ทำหน้าที่ลอบส่งข่าวกรองให้กองกำลังฝ่ายพันธมิตรเดอ โกลซึ่งจัดตั้งกองกำลังปลดปล่อยฝรั่งเศส (Free French Forces–FFL) ได้ขึ้นเป็นประธานคณะกรรมาธิการฝรั่งเศสเพื่อการปลดปล่อยแห่งชาติ (French Committee of National Liberation) อันเป็นองค์กรที่เป็นผู้นำขบวนการต่อต้านเยอรมนีของฝรั่งเศสทั้งมวลในปลาย ค.ศ. ๑๙๔๒

 นอกจากการแบ่งพื้นที่ในการปกครองแล้วใจความสำคัญอื่นในการสงบศึกได้แก่ การส่งมอบชาวยิวที่อาศัยในฝรั่งเศสทั้งหมดให้แก่เยอรมนีซึ่งในที่สุดได้ส่งมอบประมาณ ๗๖,๐๐๐ คน รัฐบาลวิชียังออกกฎหมายอีกหลายฉบับต่อต้านชาวยิวในประเทศ ทั้งเนรเทศชาวยิวจำนวนมากไปยังค่ายกักกัน (Concentration Camp)* ภายในเวลา ๖ เดือน เท่านั้น ชาวยิวที่ไม่ใช่สัญชาติฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งถูกจัดส่งไปก่อน ส่วนที่เหลือถูกส่งเข้าค่ายกักกัน ๓๐ แห่ง ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นอย่างรวดเร็วในฝรั่งเศสเพื่อรอการส่งต่อ ขณะที่ชาวยิวในเขตที่เยอรมนียึดครองถ้าไม่ถูกสังหารก็ถูกเนรเทศ เยอรมนีได้ตั้งค่ายนัทซ์ ไวเลอร์ (Natzweiler) ในฝรั่งเศส ซึ่งมีห้องรมแก๊สเพื่อสังหารชาวยิวโดยต้องการเก็บโครงกระดูกที่สมบูรณ์เพื่อการดำเนินโครงการวิจัยของศาสตราจารย์โอกุสต์ เฮิร์ต (August Hirt) ที่มหาวิทยาลัยในเมืองสตราสบูร์ก (Strasburg) ส่วนชาวยิวในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศสที่อิตาลียึดครองปลอดภัยเพราะเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ผู้นำฟาสซิสต์อิตาลีให้ความคุ้มครองซึ่งทำให้ทั้งรัฐบาลวิชีและเยอรมนีไม่พอใจ เมื่ออิตาลีถอนกำลังออกในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๓ เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสได้เข้าไปบริหารดินแดนดังกล่าวซึ่งทำให้ชาวยิวในเขตนั้นเผชิญชะตากรรมที่เลวร้ายเหมือนชาวยิวในเขตอื่น ๆ และดำเนินการปราบปรามบรรดากลุ่มต่อต้านนาซี

 นอกจากนี้ เยอรมนียังให้ฝรั่งเศสยุบกองทัพให้เหลือกองกำลังเพียงจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ คน เพื่อรักษาระเบียบภายในประเทศเท่านั้น ส่วนทหารฝรั่งเศสจำนวน ๑.๕ ล้านนายที่ถูกเยอรมนีจับกุมตัวไปก็ยังคงเป็นเชลยสงครามเพื่อเป็นหลักประกันว่ารัฐบาลวิชีจะปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ รวมทั้งการส่งมอบทองคำอาหารและเสบียงให้แก่เยอรมนี ฝรั่งเศสยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการที่ทหารเยอรมันจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ นายเข้ามายึดครองดินแดนของฝรั่งเศสรัฐบาลวิชียอมตกลงว่าจะไม่อนุญาตให้ทหารฝรั่งเศสเดินทางออกนอกประเทศและไม่ให้พลเมืองฝรั่งเศสต่อสู้กับทหารเยอรมัน มีการเกณฑ์ชายชาวฝรั่งเศสจำนวนมากเข้าทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมโลหะของเยอรมนี รวมทั้งในโรงงานผลิตเหล็กกล้าของบริษัทของตระกูลครุพพ์ (Krupp Family)* ที่เมืองเอสเซิน (Essen) ชาวฝรั่งเศสจำนวนกว่า ๑ ล้านคนถูกส่งไปเป็นแรงงานที่ทำงานหนักด้วยค่าแรงต่ำ ที่อยู่แออัด อาหารจำกัด และเผชิญกับภาวะที่มีการทิ้งระเบิดเนือง ๆ จากฝ่ายพันธมิตร ทั้งต้องอยู่ใต้ระเบียบวินัยเข้มงวดของนาซีซึ่งนำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านนาซีมากขึ้นตามลำดับ

 ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๒ ลาวาลซึ่งถูกกลั่นแกล้งจนพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลวิชีตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ ได้กลับคืนสู่ตำแหน่งอีกครั้ง ลาวาลพยายามทำให้ฝ่ายเยอรมนีเข้าใจว่าเขาเป็นตัวจักรสำคัญในการร่วมมือกันระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนี ช่วงเวลานั้นเยอรมนีกำลังทำสงครามกับสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มกำลัง จึงไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวายทางฝั่งตะวันตก แต่ ๖ เดือนต่อมากองกำลังอังกฤษและสหรัฐอเมริกายกพลขึ้นบกตามแผนปฏิบัติการทอร์ช (Operation Torch) ที่ชายฝั่งแอฟริกาเหนือ ทหารฝรั่งเศสของรัฐบาลวิชีต่อสู้กับทหารอังกฤษและอเมริกันที่โมร็อกโก แต่ภายใน ๓ วันก็ยอมแพ้ ฮิตเลอร์ขุ่นเคืองมากและหวาดระแวงฝรั่งเศส เขาจึงฉีกข้อตกลงการสงบศึกระหว่างเยอรมนีกับฝรั่งเศสที่กระทำกันเมื่อ ๒ ปีก่อน ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๒ ก็เข้ายึดครองดินแดนฝรั่งเศสทั้งหมด ด้วยปฏิบัติการตามชื่อรหัสเคสอ็องต็อง (Case Anton) หรือปฏิบัติการ อ็องต็อง (Operation Anton) และยุบกองทัพของรัฐบาลวิชีที่จัดตั้งขึ้นตอนสงบศึกระหว่างกัน

 ขณะที่รัฐบาลวิชีอ่อนแอจนใกล้จะหมดสภาพขบวนการต่อต้านรัฐบาลวิชีและเยอรมนีกลับเข้มแข็งมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ชายชาวฝรั่งเศสจำนวนมากซึ่งเคยหลบหนีจากการเกณฑ์แรงงานไปดำรงชีพแบบบุคคลนอกกฎหมายในเขตชนบทได้รับการช่วยเหลือจากคนท้องถิ่นและจากเสบียงที่เครื่องบินอังกฤษทิ้ง


หย่อนลงมา พวกเขาจึงสามารถก่อกวนเส้นทางคมนาคมและการติดต่อของฝ่ายเยอรมันเพื่อเป็นการเตรียมการในการยกพลขึ้นบกของอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ในช่วงที่เกิดสงครามกลางเมืองในฝรั่งเศสระหว่างกลุ่มต่อต้านกับหน่วยเกสตาโป (Gestapo)* ที่มีกองทหารของวิชีหนุนหลังอยู่ ฝ่ายพันธมิตรก็เตรียมการยกพลขึ้นบกที่อ่าวนอร์มองดี (Normandy) หลังการยกพลขึ้นบกในวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ หรือวันดี-เดย์ (D-Day)* นายพลเดอโกลนำทหารปลดปล่อยกรุงปารีส (Liberation of Paris) เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ และประกาศการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวของสาธารณรัฐฝรั่งเศส (Provisional Government of the French Republic–GPRF) ขึ้นในกรุงปารีสเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม หลังจากนั้นรัฐบาลใหม่ของฝรั่งเศสก็ประกาศยุบรัฐฝรั่งเศสและล้มเลิกกฎหมายต่าง ๆ ที่รัฐฝรั่งเศสเคยประกาศใช้ทั้งหมด การสืบเสาะหาผู้ให้ความร่วมมือกับฝ่ายนาซีเพื่อนำตัวมาลงโทษก็เริ่มขึ้น บรรดาสตรีที่ถูกกล่าวหาหรือเคยมีความสัมพันธ์กับทหารเยอรมันถูกจับกล้อนผม โกนหัวและประจานด้วยการบังคับให้เดินไปตามท้องถนน ส่วนจอมพล เปแตงและคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลวิชี เยอรมนีพาหนีไปและจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่เมืองซิกมาริงเงิน (Sigmaringen) โดยมีแฟร์น็อง เดอ บรีนง (Fernand de Brinon) เป็นนายกรัฐมนตรี

 เมื่อเยอรมนีพ่ายแพ้สงครามในที่สุดใน ค.ศ. ๑๙๔๕ รัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลวิชีก็ถูกจับกุมเนื่องจากร่วมมือกับรัฐบาลนาซี สำหรับลาวาลซึ่งหนีไปเยอรมนีและสเปนตามลำดับถูกจับและนำตัวกลับมายังฝรั่งเศสเพื่อไต่สวน เขาถูกพิพากษาให้ประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในวันที่ ๑๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ส่วนจอมพล เปแตงได้เดินทางกลับมาเผชิญการไต่สวนที่ดำเนินการสมคบกับเยอรมนีที่ฝรั่งเศส และถูกตัดสินว่ากระทำผิดในข้อหากบฏ แต่โทษประหารของเขานั้นเดอ โกลซึ่งเคยร่วมรบหน่วยเดียวกับเปแตงในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้จัดการเปลี่ยนบทลงโทษเป็นขังเดี่ยวตลอดชีวิตโดยอ้างเหตุผลเรื่องอายุมากและวีรกรรมของเปแตงในสงครามโลกครั้งที่ ๑ เปแตงจึงถูกจำขังในลักษณะมีความเป็นอยู่ค่อนข้างสะดวกสบายที่เกาะอีลดีเยอ (Ile d’ Yeu) ในมหาสมุทรแอตแลนติก เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๑ ขณะอายุ ๙๕ ปีและศพได้รับการฝังที่นั่นอย่างไรก็ดียังมีผู้ที่เคยหลบหนีและซ่อนตัวอยู่อีก แต่หลังจากสงครามโลกสิ้นสุดไปนานหลายสิบปี ผู้ที่เคยหนีซ่อนตัวก็ถูกจับกุมและนำไปลงโทษ ดังเช่น เรอเน บุสเก(René Bousquet)ซึ่งถูกฆาตกรรมใน ค.ศ. ๑๙๙๓ ก่อนการพิจารณาคดีข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติปอล ตูวีเย (Paul Touvier) ก็ถูกตัดสินว่ากระทำผิดในข้อหาเดียวกันจากการร่วมมือกับนาซีสังหารชาวยิวตูวีเยหลบซ่อนตัวจนทางการจับกุมได้ใน ค.ศ. ๑๙๘๘ เขาถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต และเสียชีวิตในคุกใน ค.ศ. ๑๙๙๖ ขณะอายุ ๘๑ ปี.



คำตั้ง
Vichy France ; Vichy Government; Vichy Regime
คำเทียบ
ฝรั่งเศสสมัยรัฐบาลวิชี
คำสำคัญ
- กองกำลังปลดปล่อยฝรั่งเศส
- เกสตาโป
- คณะกรรมาธิการฝรั่งเศสเพื่อการปลดปล่อยแห่งชาติ
- ค่ายกักกัน
- เชอร์ชิลล์, เซอร์วินสตัน
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- เดอ โกล, ชาร์ล
- ตระกูลครุพพ์
- นาซี
- แนวพรมแดนมาจิโน
- บรรษัทกระจายเสียงแห่งอังกฤษหรือบีบีซี
- ฝรั่งเศสสมัยรัฐบาลวิชี
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- ยุทธการที่ฝรั่งเศส
- ยุทธการที่แวร์เดิง
- รัฐบาลวิชี
- เรโน, ปอล
- ลาวาล, ปีแยร์
- วันดี-เดย์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามสายฟ้าแลบ
- สหภาพโซเวียต
- สัญญาสงบศึก
- เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1940–1944
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๘๓–๒๔๘๗
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-